เหตุการณ์สำคัญที่ผ่านมา

องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย หรือ ท.ศ.ท. เดิมเป็นหน่วยงานหนึ่งของกรมไปรษณีย์โทรเลข ใช้ชื่อว่ากองช่างโทรศัพท์ โดยได้เปลี่ยนมาเป็นองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย หรือ ท.ศ.ท. (Telephone Organization of Thailand) เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2497 ในช่วงแรกรับผิดชอบเฉพาะการวางชุมสายโทรศัพท์ในเขตนครหลวง แต่ในภายหลังได้ดูแลกิจการโทรศัพท์ของทั้งประเทศ โดยโอนความรับผิดชอบมาจากกรมไปรษณีย์โทรเลข

บริษัท ทศท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) วันที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2545 องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย (ท.ศ.ท.) ได้แปรรูป แต่ยังคงสถานะรัฐวิสาหกิจในรูปแบบ บริษัทมหาชนจำกัด ใช้ชื่อว่า บริษัท ทศท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (TOT Corporation Public Company Limited.) เมื่อมีการปรับปรุงโครงสร้างทางราชการ บมจ. ทศท คอร์ปอเรชั่น ได้ย้ายมาสังกัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร

บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ชื่อบริษัท ทศท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ได้เปลี่ยนแปลงอีกครั้ง โดยจดทะเบียนเป็นบริษัท จำกัด มหาชน ใช้ชื่อว่า บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) (TOT Public Company Limited) เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2548 นัยว่าเพื่อให้เป็นชื่อที่ตรงกันทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ พร้อมเปลี่ยนตราสัญลักษณ์เหลือเพียงเครื่องหมาย ทีโอที

 

 

วิวัฒนาการระบบโทรศัพท์

ระบบแมกนิโต (Magneto System)
เครื่องโทรศัพท์ระบบไม่มีหน้าปัทม์ให้หมุนตัวเลขเมื่อต้องการเรียกออก  ผู้ใช้จะต้องยกหูโทรศัพท์หมุนตัวสร้างกระแสสัญญาณกระดิ่ง ให้เกิดเป็นสัญญาณไฟฟ้าขนาด ๘๐ ถึง๑๐๐ โวลต์ (Volt) ๒๐ เฮิรตซ์ (Hz) ส่งไปที่ชุมสายโทรศัพท์เพื่อแจ้งความต้องการเรียกออกเพื่อให้เจ้าหน้าที่ประจำชุมสายทำการเชื่อมต่อสายการสนทนาให้ซึ่งเป็นการเชื่อมต่อแบบใช้แรงงานคน (Manual)

 ชุมสายชนิดทำงานด้วยมือ (Manual Switchboard)
          การทำงานของชุมสายโทรศัพท์ที่ต้องอาศัยพนักงานสลับสายหรือโอเปอร์เรเตอรนผู้เชื่อมต่อสัญญาณจากต้นทางไปยังปลายทางให้จึงสามารถสนทนากันได้

  ชุมสายโทรศัพท์ระบบเซ็นทรัลแบตเตอร์รี่ (Central Battery System)
         ชุมสายโทรศัพท์มีแบตเตอรี่กลางที่สามารถส่งสัญญาณไฟฟ้าให้กับเครื่องโทรศัพท์ปลายทางได้จึงสามารถตรวจสอบสภาพการยกหู-วางหู ของเครื่องโทรศัพท์ปลายทางได้เองเครื่องโทรศัพท์ปลายทางไม่ต้องมีแบตเตอร์รี่ในตัวและไม่ต้องมีแกนหมุนสร้างสัญญาณกระดิ่งไปแจ้งพนักงาน  สลับสาย

 

ชุมสายโทรศัพท์ระบบสเตปบายสเตป (Step-by-Step System) 
        ชุมสายโทรศัพท์อัตโนมัติระบบแรกที่ผู้ใช้งานสามารถหมุนหมายเลข เพื่อต่อสายสนทนาไปยังหมายเลขปลายทางด้วยตนเองโดยไม่ต้องผ่านพนักงานต่อสาย

 

  ชุมสายโทรศัพท์ระบบครอสบาร์ (Cross-Bar System)
         ชุมสายโทรศัพท์อัตโนมัติ ที่นำหลอดสุญญากาศมาใช้ในการควบคุม มีกลไกการทำงานด้วยวงจรอิเล็กทรอนิกส์ ส่วนที่เป็นวงจรสลับ จะใช้อุปกรณ์รีเลย์(Relay)เป็นตัวตัดต่อซึ่งนำมาจัดเรียงในแนวตั้งและแนวนอนร่วมกันหรือพาดกันเป็นสวิตซ์เรียกว่า ครอสบาร์สวิตซ์หรือเมตริกซ์สวิตซ์

 

 

  ระบบโทรศัพท์ระบบโปรแกรมได้ (Stored Program Control System)
         โทรศัพท์ระบบโปรแกรมได้ซึ่งเป็นระบบโทรศัพท์บ้านที่ได้รับการพัฒนามากขึ้นควบคุมด้วยคอมพิวเตอร์ สามารถควบคุมสั่งการกำหนดหน้าที่หรือบริการพิเศษได้จากระยะไกลมีประสิทธิภาพสูง

 

 

 

ปี พ.ศ.(ค.ศ.) เหตุการณ์สำคัญ
พ.ศ. ๒๔๑๙
(ค.ศ. 1876)
อเล็กซานเดอร์แกรแฮมเบลล์ (Alexander Graham Bell) ชาวอเมริกันได้ประดิษฐ์โทรศัพท์ขึ้นใช้งานเป็นครั้งแรก
พ.ศ. ๒๔๒๔

(ค.ศ. 1881)

สมเด็จพระราชปิตุลาบรมวงศาภิมุขเจ้าฟ้าภาณุรังสีสว่างวงศ์ได้นำวิทยาการด้านการสื่อสารด้วยโทรศัพท์เข้ามาใช้งานในประเทศไทยเป็นครั้งแรกซึ่งตรงกับรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๕
พ.ศ. ๒๔๒๖
(ค.ศ. 1883)
จัดตั้งกรมโทรเลขของประเทศไทยดูแลรับผิดชอบงานด้านไปรษณีย์และงานด้านโทรศัพท์

 

พ.ศ. ๒๔๒๙
(ค.ศ. 1886)
กรมโทรเลขเปิดให้บริการโทรศัพท์แก่ประชาชนทั่วไปในเขตกรุงเทพมหานครหรือพระนครในขณะนั้นและธนบุรีมีผู้เช่าบริการประมาณ ๖๐ ราย
พ.ศ. ๒๔๘๐
(ค.ศ. 1937)
การตัดเปลี่ยนหมายเลขและเปิดใช้ชุมสายอัตโนมัติเป็นครั้งแรกพร้อมทั้งเปลี่ยนเครื่องโทรศัพท์
เป็นแบบหมุนหน้าปัทม์ได้
พ.ศ. ๒๔๙๗
(ค.ศ. 1954)
จัดตั้งองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย

 

พ.ศ. ๒๕๐๔
(ค.ศ. 1961)
องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยรับโอนกิจการโทรศัพท์ทั้งหมดจากกรมไปรษณีย์โทรเลขจึงเป็นผู้ควบคุมกิจการโทรศัพท์ทั่วราชอาณาจักรโดยสมบูรณ์
พ.ศ. ๒๕๑๒
(ค.ศ. 1969)
นำเครื่องชุมสายโทรศัพท์อัตโนมัติระบบครอสบาร์ (Cross-bar) มาใช้เป็นครั้งแรกที่ชุมสายทุ่งมหาเมฆจำนวน ๔,๐๐๐ เลขหมาย
พ.ศ. ๒๕๑๕
(ค.ศ. 1972)
ติดตั้งเครื่องโทรศัพท์สาธารณะที่มีช่องหยอดเหรียญ๒ ช่องสามารถเลือกใช้งานได้ทั้งเหรียญโทรศัพท์และเหรียญบาท
พ.ศ. ๒๕๑๗
(ค.ศ. 1974)
เปลี่ยนหมายเลขโทรศัพท์ในเขตนครหลวงจาก๕ ตัวเลข (digital) เป็น ๖ ตัวเลข

 

พ.ศ. ๒๕๑๘
(ค.ศ. 1975)
ให้บริการโทรศัพท์ทางไกลอัตโนมัติทางเดียวโดยไม่ต้องใช้พนักงานต่อสาย (Subscriber Trunk Dialing: STD)
พ.ศ. ๒๕๑๙
(ค.ศ. 1976)
มีการตัดเปลี่ยนหมายเลขโทรศัพท์ในเขตนครหลวงจาก๕ ตัวเลขและ ๖ ตัวเลขปรับเปลี่ยนเป็น๗ ตัวเลขทั้งหมด ซึ่งในเขตภูมิภาคเปลี่ยนเป็น ๖ ตัวเลขทุกชุมสาย
พ.ศ. ๒๕๒๐
(ค.ศ. 1977)
เปิดให้บริการเครื่องโทรศัพท์ระบบกดปุ่มเป็นครั้งแรกในเขตนครหลวง
พ.ศ. ๒๕๒๑
(ค.ศ. 1978)
เปิดให้บริการโทรศัพท์ไร้สาย (Multi-Access Radio Telephone System)
พ.ศ. ๒๕๒๒
(ค.ศ. 1979)
เปิดบริการโทรศัพท์สาธารณะแบบไม่มีผู้ดูแลติดตั้งนอกอาคารเป็นครั้งแรกในเขตนครหลวง
พ.ศ.๒๕๒๓
(ค.ศ.1980)
เปลี่ยนเป็นชุมสายอัตโนมัติทั้งหมดทั่วประเทศพร้อมยกเลิกชุมสายระบบพนักงานต่อทุกแห่ง
 

พ.ศ. ๒๕๒๔
(ค.ศ. 1981)

 

ให้บริการส่งข้อมูลทางโทรสารเป็นครั้งแรก

พ.ศ. ๒๕๒๕
(ค.ศ. 1982)
ให้บริการโทรศัพท์สาธารณะทางไกลอัตโนมัติเป็นครั้งแรก
พ.ศ. ๒๕๒๖
(ค.ศ. 1983)
เปิดให้บริการชุมสายโทรศัพท์ระบบเอสพีซี (Stored Program Control: SPC) เป็นครั้งแรก
พ.ศ. ๒๕๒๗
(ค.ศ. 1984)
เปิดให้บริการโทรศัพท์ทางไกลอัตโนมัติระหว่างประเทศครั้งแรก
พ.ศ. ๒๕๒๙
(ค.ศ. 1986)
ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ซึ่งเป็นระบบเอ็นเอ็มที ๔๗๐เมกกะเฮิรตซ์
(Nordic Mobile Telephone System: NMT-470)
พ.ศ. ๒๕๓๓
(ค.ศ. 1990)
• เปิดบริการโทรศัพท์ทางไกลฟรี 088 (Toll Free Call: 088) เฉพาะในเขตนครหลวง
• ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบรวงผึ้งความถี่๙๐๐ เมกกะเฮิรตซ์ (Cellular 900 MHz)• ให้บริการโทรศัพท์สาธารณะแบบใช้บัตร (Card Phone)
• สร้างโครงข่ายเคเบิ้ลเส้นใยนำแสงตามเส้นทางรถไฟ
พ.ศ. ๒๕๓๔
(ค.ศ. 1991)
• สร้างระบบสื่อสารเพื่อบริการธุรกิจผ่านดาวเทียม(Integrated Satellite Business Network: ISBN)
• สร้างโครงการเคเบิลใต้น้ำฝั่งตะวันออก
พ.ศ. ๒๕๓๕
(ค.ศ. 1992)
เปิดบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบ Common Base Radio Telephone ติดต่อระหว่างผู้ใช้งานในกลุ่มเดียวกัน
พ.ศ. ๒๕๓๖
(ค.ศ. 1993)
• เปิดให้บริการวีดิสาร (Videotex Service) เพื่อการให้บริการข้อมูลธุรกิจ สังคมและข่าวสาร
• ให้บริการโทรศัพท์ติดตามตัวระบบใหม่ (Worldpage)
พ.ศ. ๒๕๓๗
(ค.ศ. 1994)
เปิดให้บริการสื่อสารร่วมระบบดิจิทัล (Integrated Services Digital Network: ISDN)
พ.ศ. ๒๕๓๙
(ค.ศ. 1996)
• เปิดให้บริการโทรศัพท์รหัสส่วนตัว(PIN Phone 108)
• สร้างโครงข่ายเคเบิลใต้น้ำฝั่งตะวันตก
พ.ศ. ๒๕๔๐
(ค.ศ. 1997)
• ปรับเปลี่ยนโทรศัพท์ระบบครอสบาร์(แบบหมุน)เป็นระบบเอสพีซี(แบบกดปุ่ม)ทั้งหมด
• เปิดให้บริการข้อมูลผ่านทางเว็บไซต์เป็นครั้งแรก
• ให้บริการเช่าวงจรสื่อสารความเร็วสูงผ่านโครงข่ายมัลติมีเดีย
พ.ศ. ๒๕๔๑
(ค.ศ. 1998)
เปิดให้บริการโฮมคันทรีไดเร็ค(Home Country Direct: HCDS) ระหว่างประเทศไทยและประเทศมาเลเซียและพิมพ์บัตรโทรศัพท์ออกให้บริการเป็นครั้งแรก
พ.ศ. ๒๕๔๒
(ค.ศ. 1999)
• ให้บริการข้อมูลด้วยเสียงทางโทรศัพท์ (Audiotex) ด้วยรหัส 1900 XXX XXX
• ให้บริการสื่อสารข้อมูลผ่านข่ายสายท้องถิ่นเฉพาะที่เป็นสายทองแดงและเปิดให้บริการโทรฟรีระหว่างประเทศ IFS (International Freephone Service)
• ให้บริการโทรศัพท์พื้นฐานใช้นอกสถานที่หรือพีซีที (PCT) ร่วมกับบริษัทเอกชนผู้ให้บริการโทรศัพท์พื้นฐานในเขตนครหลวงอย่างเป็นทางการ
• ให้การสนับสนุนโครงการเครือข่ายคอมพิวเตอร์เพื่อโรงเรียนไทย (SchoolNet)
พ.ศ. ๒๕๔๓
(ค.ศ. 2000)
ให้บริการโทรศัพท์ทางไกลโดยใช้เทคโนโลยี Voice over IP (VoIP)
พ.ศ. ๒๕๔๔
(ค.ศ. 2001)
เพิ่มหมายเลขโทรศัพท์ทั่วประเทศ (Numbering Plan) จากหมายเลข ๗ หลักเปลี่ยนเป็นหมายเลข ๙ หลัก
พ.ศ. ๒๕๔๕
(ค.ศ. 2002)
• เปิดให้บริการอินเทอร์เน็ต
• ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบ๑,๙๐๐ เมกกะเฮิรตซ์(1900 MHz THAI MOBILE)
• องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยเปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท ทศทคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)
พ.ศ. ๒๕๔๗
(ค.ศ. 2004)
• ให้บริการศูนย์บริการข้อมูลภาครัฐเพื่อประชาชน(Government Contact Center: GCC)
• ให้บริการระบบเครือข่ายเชื่อมต่อกับธนาคารสำหรับ Electronic Draft Capture (EDC Network Pool)
พ.ศ. ๒๕๔๘
(ค.ศ. 2005)
• ขยายบริการโทรศัพท์ ๕๖๕,๕๐๐ เลขหมาย
• ปรับปรุงโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่เอ็นเอ็มที๔๗๐ เมกกะเฮิรตซ์ (NMT 470 MHz) เป็นระบบซีดีเอ็มเอ (CDMA 2000-1X)
• ให้บริการระบบสื่อสารโทรคมนาคมเส้นใยนำแสง
• ให้บริการ Metro LAN เชื่อมต่อเครือข่ายคอมพิวเตอร์(LAN) ระหว่างอาคารเข้าด้วยกัน
• บริษัท ทศทคอร์ปอเรชั่นจำกัด(มหาชน) เปลี่ยนชื่อเป็นบริษัททีโอที จำกัด(มหาชน)

บรรณานุกรม

[๑] ประเทศไทย, “บริษัททีโอที จำกัด (มหาชน)”, อดีตถึงปัจจุบัน, ๑๐เมษายน ๒๕๕๑<

http://www.tot.co.th/>
[๒] ประเทศไทย, “บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด”, ประวัติกิจการไปรษณีย์ไทย, ๑๐ เมษายน ๒๕๕๑< http://www.thailandpost.com

สารานุกรมโทรคมนาคมไทย  องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย

http://www.thaitelecomkm.org/TTE/topic/attach/History_of_Thai_Telecommunications_Telephone_Organization_of_Thailand/index.php