รัชกาลที่ 9 กับพระอัจฉริยภาพด้านการสื่อสาร

รัชกาลที่ 9 กับพระอัจฉริยภาพด้านการสื่อสาร

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ ทรงสนพระราชหฤทัยด้านการสื่อสารมาตั้งแต่ทรงพระเยาว์ และทรงอุทิศพระองค์ พระอัจฉริยะ และพระอุตสาหะทั้งมวลเพื่อราษฎรทุกภูมิภาค มีพระราชดำริให้มีการพัฒนาด้านระบบวิทยุสื่อสารอย่างจริงจัง ต่อเนื่อง และมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น กล่าวคือ สามารถรับส่งได้ไกลยิ่งขึ้น

ดังจะเห็นได้จากการที่พระองค์ทรงใช้เครื่องมือสื่อสารพกติดพระองค์ระหว่างประกอบพระราชกรณียกิจต่าง ๆ อยู่เสมอ เพราะสิ่งที่พระองค์ขาดไม่ได้คือการสดับตรับฟังข่าวทุกข์สุขของประชาชน ดังเช่นในระหว่างการเสด็จฯ เยี่ยมราษฎร ซึ่งได้ทรงพบว่าหากมีผู้ใดที่กำลังเจ็บป่วยและจำเป็นต้องส่งตัวเข้าบำบัดรักษาในโรงพยาบาลท้องถิ่นหรือโรงพยาบาลในกรุงเทพมหานครโดยเร็ว หากมีเวลาเพียงพอ จะรับสั่งผ่านทางวิทยุถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ขอรับการสนับสนุนเรื่องการขนส่งด้วยพระองค์เอง

นอกจากนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ ยังพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้นำระบบสื่อสารแบบถ่ายทอดสัญญาณ หรือ Repeater ซึ่งเชื่อมต่อกับวงจรทางไกลขององค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย ให้มูลนิธิแพทย์อาสาสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี (พอ.สว.) นำไปใช้ เพื่อช่วยเหลือรักษาพยาบาลผู้เจ็บป่วยในท้องถิ่นห่างไกล
%e0%b8%a3%e0%b8%b1%e0%b8%8a%e0%b8%81%e0%b8%b2%e0%b8%a5%e0%b8%97%e0%b8%b5%e0%b9%88-9-%e0%b8%81%e0%b8%b1%e0%b8%9a%e0%b8%9e%e0%b8%a3%e0%b8%b0%e0%b8%ad%e0%b8%b1%e0%b8%88%e0%b8%89%e0%b8%a3%e0%b8%b4พระราชดำริอีกประการหนึ่งที่ได้พระราชทานให้ผู้ที่เกี่ยวข้องนำไปพิจารณาดำเนินการก็คือ ทำอย่างไรจึงจะสามารถติดต่อสื่อสารกันระหว่างจุดที่อยู่ห่างไกลกันมาก ๆ เช่น เชียงใหม่กับกรุงเทพฯ ได้โดยใช้เครื่องรับส่งวิทยุขนาดเล็กแบบถือติดตัว พระราชดำรินี้ได้เป็นแรงผลักดันให้มีการจัดตั้งระบบวิทยุถ่ายทอดผ่านข่ายโทรคมนาคมขององค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยขึ้น โดยมีสถานีถ่ายทอดที่เชียงใหม่และกรุงเทพฯ แห่งละ 1 สถานี ซึ่งก็นับเป็นผลสำเร็จประการหนึ่งในการพัฒนาระบบสื่อสารของประเทศ และช่วยให้พระองค์ท่านมีความสะดวกในการบำเพ็ญพระราชกรณียกิจ เพราะสามารถติดต่อสื่อสารจากที่ห่างไกลได้โดยใช้เพียงเครื่องรับส่งวิทยุขนาดเล็ก

เมื่อเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมเยียนราษฎรในชนบท พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ ทรงทอดพระเนตรเห็นความทุกข์ยากของพสกนิกรอันเนื่องมาจากขาดแคลนน้ำเพื่อการเกษตร จึงมีพระราชดำริให้ดำเนินโครงการฝนหลวงขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว ในการปฏิบัติงานในระยะแรก ๆ นั้นประสบปัญหาเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศที่ไม่ทราบล่วงหน้า ซึ่งนักบินผู้ปฏิบัติงานจำเป็นต้องได้รับคำแนะนำแก้ไขโดยฉับพลัน เนื่องจากไม่มีการติดต่อสื่อสารระหว่างผู้ปฏิบัติการด้วยกัน เป็นเหตุให้ไม่ได้ผลเท่าที่ควร ฝนตกน้อยหรือไม่ตกตามที่วางแผนไว้
%e0%b8%a3%e0%b8%b1%e0%b8%8a%e0%b8%81%e0%b8%b2%e0%b8%a5%e0%b8%97%e0%b8%b5%e0%b9%88-9-%e0%b8%81%e0%b8%b1%e0%b8%9a%e0%b8%9e%e0%b8%a3%e0%b8%b0%e0%b8%ad%e0%b8%b1%e0%b8%88%e0%b8%89%e0%b8%a3%e0%b8%b4พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ ได้ทรงสดับตรับฟังข่าวการปฏิบัติการฝนหลวงทุกครั้ง และทรงทราบถึงปัญหาที่สำคัญคือ การขาดการติดต่อสื่อสารที่ดี จึงโปรดเกล้าฯ ติดตั้งวิทยุสำหรับหน่วยปฏิบัติการฝนหลวง ทั้งทางอากาศและทางภาคพื้นดิน ส่งผลให้การปฏิบัติการฝนหลวงเกิดสัมฤทธิผลดีขึ้นเป็นลำดับ

นอกเหนือจากวิทยุสื่อสารแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ ยังทรงสนพระราชหฤทัยในการสื่อสารผ่านทางโทรพิมพ์อยู่ไม่น้อย เพราะนอกจากจะมีกระแสพระราชดำรัส พระราชทานพรปีใหม่แก่พสกนิกรไทยทางวิทยุและโทรทัศน์แล้ว ยังมีพระมหากรุณาธิคุณ พระราชทานพรทางโทรพิมพ์สม่ำเสมอทุกปี แต่ในปัจจุบันเมื่อเทคโนโลยีก้าวหน้าไป พระองค์ทรงใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ในการประดิษฐ์บัตรอวยพรปีใหม่แทน

ทั้งหมดนี้ก็เนื่องมาจากสายพระเนตรอันกว้างไกลในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ ที่ทรงเล็งเห็นถึงความสำคัญของการสื่อสารว่า การสื่อสารนั้นเป็นปัจจัยสำคัญในการดำเนินธุรกิจทุกประเภท การสื่อสารเป็นหัวใจของความมั่นคงสำหรับประเทศ และการสื่อสารเป็นองค์ประกอบที่สำคัญยิ่งในการพัฒนาประเทศให้ประชาชนอยู่ดีกินดีและมีความสุขอย่างยั่งยืน

เรียบเรียงจาก : หนังสืออัจฉริยราชา ผู้สร้างสรรค์ภูมิปัญญาแห่งแผ่นดิน, วิกิพิเดีย