พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกับกิจการโทรศัพท์

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกับกิจการโทรศัพท์

โดย พล.ต.ต. สุชาติ เผือกสกนธ์


                ผมได้มีโอกาสนำเอาเรื่องราวที่เกี่ยวกับพระราชอัจฉริยภาพในด้านการสื่อสารของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาเล่าสู่กันฟังหลายครั้งหลายตอนแล้ว ส่วนใหญ่จะเกี่ยวข้องกับการสื่อสารทางวิทยุ แต่ตามความจริงแล้ว พระองค์ยังทรงสนพระทัย และทรงพระปรีชาสามารถในการสื่อสารโทรคมนาคมอีกหลายด้าน โดยเฉพาะโทรศัพท์ หากไม่บันทึกความทรงจำนี้ไว้เป็นลายลักษณ์อักษร ประวัติศาสตร์การสื่อสารโทรคมนาคมของเมืองไทยดูจะขาดความสมบูรณ์ไปส่วนหนึ่งที่มีความสำคัญไม่น้อย ดังนั้น ในวันเฉลิมพระชนมพรรษาปีนี้ ผมจึงได้รวบรวมเรื่องราวการสื่อสารส่วนพระองค์ในส่วนที่เกี่ยวกับกิจการโทรศัพท์มาเรียบเรียงเขียนบทความนี้ไว้ในการออกเผยแพร่ในวโรกาสอันสำคัญของประชาชนคนไทย เพื่อให้ได้รับรู้และจดจำไว้เล่าให้รุ่นน้องรุ่นลูกรุ่นหลานรับทราบสืบต่อกันไป

                เมื่อก่อนปี พ.ศ. ๒๕๑๑ เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จแปรพระราชฐานไปประทับแรมในต่างจังหวัด พนักงานขององค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย (ทศท.) ในท้องถิ่นมีหน้าที่แต่เพียงทดสอบว่า โทรศัพท์ที่มีใช้ในเขตพระราชฐานใช้การได้ดีหรือไม่ เจ้าหน้าที่บริหารระดับสูงของ ทศท. ในสมัยนั้นดูเหมือนจะไม่มีผู้ใดเข้าไปยุ่งเกี่ยวสอบถาม คงจะเป็นเพราะเห็นว่าเป็นเรื่องในรั้วในวัง ถ้ามีปัญหา ในวังคงจะแจ้งให้หัวหน้าชุมสายฯ ทราบเอง

                บทบาทของ ทศท. ในส่วนที่เกี่ยวกับในรั้วในวังเริ่มมีมากขึ้น เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงปรารภแก่ผมเมื่อครั้งเสด็จแปรพระราชฐานไปประทับแรม ณ พระตำหนัก ภูพิงคราชนิเวศน์ เชียงใหม่ เมื่อปลายปี พ.ศ. ๒๕๑๑ ว่า จะทำอย่างไร จึงจะสามารถใช้เครื่องรับ-ส่งวิทยุมือถือ VHF-FM ติดต่อได้ไกลๆ เช่น จากเชียงใหม่ถึงกรุงเทพ เมื่อได้รับกระแสพระราชปุจฉาเช่นนี้ ทำเอาผมต้องคิดหนัก เพราะการติดต่อสื่อสารทางวิทยุในระยะไกลๆ ในสมัยนั้นคงจะมีเฉพาะระบบวิทยุ HF Single Sideband, Microwave หรือ Tropospheric Scattering เท่านั้น หากจะนำมาถวายคงจะไม่เป็นไปตามพระราชประสงค์ โดยที่ผมได้มีความสัมพันธ์กับ ทศท. ในเรื่องการงานมาเป็นเวลานานโดยเฉพาะเมื่อตอนเริ่มบุกเบิกสร้างระบบโทรคมนาคมของกระทรวงมหาดไทยขึ้น มีเพื่อนฝูงเป็นผู้ใหญ่อยู่ใน ทศท. หลายคน ได้มีโอกาสทราบความก้าวหน้าของ ทศท. รู้ตื้นลึกหนาบางในด้านการพัฒนาโครงข่ายโทรคมนาคมที่ ทศท. ใช้เป็นวงจรทางไกลโดยมี Carrier Coaxial Cable และระบบวิทยุถ่ายทอด Microwave เป็นสื่อนำสัญญาณอย่างดี จึงได้ประมวลความรู้ประสบการณ์เท่าที่มีอยู่ เปิดตำราค้นคว้าเพิ่มเติมบ้าง ในที่สุด ก็ได้ข้อยุติว่า พระราชประสงค์ที่กล่าวถึงข้างต้นสามารถตอบสนองได้ด้วยการนำเอาระบบวิทยุ VHF-FM มาเชื่อมต่อกับวงจรทางไกลของ ทศท. โดยมีสถานีวิทยุทวนสัญญาณ หรือ Repeater ด้านหนึ่งตั้งอยู่ที่ศูนย์โทรคมนาคมเชียงใหม่ และอีกสถานีหนึ่งตั้งอยู่ที่ศูนย์โทรคมนาคม กระทรวงมหาดไทย ถนนวิสุทธิ์กษัตริย์ กรุงเทพฯ โดยเชื่อมต่อทางข่ายสายกับศูนย์โทรคมนาคม ทศท. ถนนกรุงเกษม ในชั้นแรก ได้ทดลองใช้วงจรทางไกลที่กระทรวงมหาดไทยเช่าจาก ทศท. แต่ต่อมาสู้ค่าเช่าวงจรทางไกลไม่ไหว จึงได้นำเรื่องนี้ไปหารือ ขอรับความร่วมมือจากเพื่อนๆ ที่มีหน้าที่รับผิดชอบทาง ทศท. ซึ่งก็ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดียิ่ง เมื่อได้มีการทดลองจนได้ผลเป็นที่แน่ใจแล้ว ผมจึงได้กราบบังคมทูลพระกรุณาทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทและได้ทรงทดลองเป็นครั้งแรกในเย็นวันหนึ่งเมื่อเสด็จพระราชดำเนินขึ้นไปบนดอยปุย ซึ่งในวันนั้นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ กำลังจะเสด็จไปต่างประเทศ โดยปกติ ทั้งสองพระองค์จะทรงนำเครื่องรับ-ส่งวิทยุมือถือติดพระองค์ไปด้วย เป็นเครื่องวิทยุใช้ความถี่ VHF-FM ข่ายรักษาความปลอดภัยของกรมราชองครักษ์ สำหรับสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ นั้นมิได้ทรงทราบมาก่อนว่า จะมีการติดต่อจากเชียงใหม่ เมื่อเสด็จถึงดอยปุย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงใช้ระบบวิทยุใหม่นี้รับฟังเหตุการณ์ทางกรุงเทพฯ ได้ตลอดเวลาไม่ว่าจะเป็นข่ายของตำรวจ ข่ายรักษาความปลอดภัยของกรมราชองครักษ์ จึงทรงทราบดีว่า สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ เสด็จผ่านหรือถึงจุดใด เมื่อเสด็จถึงท่าอากาศยานดอนเมือง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงทรงใช้เครื่องวิทยุมือถือติดต่อผ่านสถานีวิทยุ Repeater ของกรมตำรวจที่เชื่อมต่อกับวงจรทางไกลของ ทศท. ถ่ายทอดพระราชกระแสมาออกอากาศทางกรุงเทพเข้าสู่เครื่องวิทยุที่สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ ทรงนำติดพระองค์ไปด้วย ยังความประหลาดพระทัยแก่สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ เป็นอย่างยิ่ง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพรให้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ เสด็จพระราชดำเนินโดยสวัสดิภาพ

                ในโอกาสต่อมา เมื่อสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ เสด็จพระราชดำเนินกลับจากต่างประเทศครั้งนั้นและได้เสด็จไปเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่พระตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์ เมื่อได้ทอดพระเนตรเห็นผม ได้เสด็จฯ เข้ามาหาและแอบรับสั่งถามผมว่า “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงใช้เครื่องวิทยุอะไร ทำไมจึงติดต่อได้ไกลถึงกรุงเทพฯ?” ผมเองได้แต่อมยิ้ม ไม่ได้กราบบังคมทูลรายละเอียดให้ทรงทราบแต่อย่างใด

                นับตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา ระบบวิทยุผ่านวงจรทางไกลของ ทศท. นี้ได้เข้าไปมีบทบาทสำคัญในการถวายงานแด่องค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในโอกาสแปรพระราชฐานในต่างจังหวัดทุกครั้ง โดยความร่วมมือระหว่างหน่วยงาน 2 หน่วย คือ กองการสื่อสาร กรมตำรวจ (ปัจจุบันคือ กองบังคับการตำรวจสื่อสาร) ซึ่งขณะนั้น ผมดำรงตำแหน่งเป็นหัวหน้ากองอยู่ กับ ทศท. ดังนั้น ก่อนหน้าที่จะเสด็จแปรพระราชฐาน กองการสื่อสารตำรวจจะติดต่อแจ้งให้ ทศท. ทราบเพื่อเตรียมวงจรทางไกลไว้เชื่อมต่อกับระบบวิทยุส่วนพระองค์ และระบบวิทยุของกองการสื่อสารตำรวจ รวมทั้งวางสายภายในไปจนถึงห้องทรงงานบนพระตำหนัก

                วงจรทางไกลที่ ทศท. ถวายไว้นี้จะเชื่อมต่อกับระบบวิทยุที่ทรงงานตลอดเวลา ๒๔ ชั่วโมง จะทรงสดับตรับฟังข่าวเหตุการณ์ของบ้านเมืองโดยเฉพาะในกรุงเทพมหานครตลอดเวลา และทรงใช้ในการติดต่อสั่งการกับหน่วยงานในต่างพื้นที่เป็นครั้งคราวเมื่อมีความจำเป็น เมื่อความไม่เรียบร้อยเกิดขึ้นภายในระบบพระองค์จะรับสั่งทางวิทยุให้ผมดำเนินการตรวจสอบแก้ไข ซึ่งผมก็จะต้องติดต่อประสานงานกับเจ้าหน้าที่ ทศท. ในกรณีที่เหตุขัดข้องนั้นเกิดจากวงจรทางไกล และได้รับความร่วมมือด้วยดีมาโดยตลอด

                การนำเอาวงจรทางไกลของ ทศท.มาใช้เป็นสื่อนำสัญญาณเชื่อมต่อระหว่างศูนย์โทรคมนาคม กรุงเทพฯ กับศูนย์โทรคมนาคม จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งผมได้ขอความร่วมมือจาก ทศท. ให้จัดถวายเพื่อทรงใช้งานร่วมกับระบบรีพีทเตอร์ที่กองการสื่อสาร กรมตำรวจ เพื่อขยายรัศมีการทำงานของเครื่องวิทยุระบบ VHF ที่ทรงใช้งานทั้งในด้านการติดต่อสื่อสาร และเฝ้าฟังการรายงานข่าวของหน่วยตำรวจต่างๆ ในกรุงเทพฯ โดยเฉพาะข่ายของตำรวจนครบาลที่รู้จักกันทั่วไปในนามว่า “ข่ายผ่านฟ้า” ในระหว่างเสด็จพระราชดำเนินแปรพระราชฐานไปประทับแรม ณ ตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์ จังหวัดเชียงใหม่นั้น ถึงแม้ว่า ระบบรีพีทเตอร์ฯ ขององค์การโทรศัพท์เป็นระบบวิทยุที่ใช้ความถี่ในย่านไมโครเวฟ เครื่องส่งวิทยุที่ใช้ภายในระบบเป็นเครื่องที่มีกำลังส่งไม่สูงมาก และใช้สายอากาศแบบจาน (Parabolic Antenna) ที่มีทิศทางการแผ่กระจายคลื่นไปในทิศทางเดียวก็ตาม แต่ก็มีบ่อยครั้งที่ได้เกิดรีพีทเตอร์ค้างขึ้นโดยเฉพาะในช่วงเวลาระหว่าง ๓-๔ นาฬิกา เสียงรบกวนที่ผ่านระบบ รีพีทเตอร์ค้างที่ดังออกมาให้ได้ยินมีลักษณะคล้ายกับเสียงของคนคราง หวีดหวิว ซึ่งดูจะไม่ไพเราะนักสำหรับคนที่นอนเฝ้าฟังวิทยุในยามดึก

                พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวซึ่งได้ทรงเฝ้าฟัง และสังเกตความผิดปกติดังกล่าวจึงได้พระราชทานข้อสังเกตผ่านมาให้ผมทราบในยามนั้นทันทีเพื่อถ่ายทอดให้เจ้าหน้าที่ช่างขององค์การโทรศัพท์ได้รับทราบและพิจารณาตรวจสอบในวันรุ่งขึ้น ซึ่งต่อมาจึงได้พบสาเหตุโดยสรุปว่า นอกจากเครื่องอุปกรณ์บางส่วนของระบบรีพีทเตอร์ทำงานผิดพลาดคลาดเคลื่อนไปจากข้อกำหนดแล้ว ยังมีสาเหตุมาจากสัญญาณวิทยุระหว่างเครื่องรับ-ส่งวิทยุไมโครเวฟบางช่วงในระบบรีพีทเตอร์ขององค์การโทรศัพท์ซึ่งเป็นวงจรทางไกลมีอาการจางหาย เนื่องจากลำคลื่นวิทยุไมโครเวฟมีการหักเหในขณะที่แผ่กระจายผ่านภูมิประเทศที่มีลักษณะเป็นป่าเขาและปกคลุมไปด้วยหมอกในฤดูหนาว

                แนวความคิดในการจัดระบบวิทยุถ่ายทอดผ่านวงจรทางไกลของ ทศท. นี้ ในโอกาสต่อมา ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นำไปประยุกต์ใช้ในระบบการสื่อสารทางวิทยุเพื่อการรักษาพยาบาลของมูลนิธิแพทย์อาสา สมเด็จพระบรมศรีนครินทราพระบรมราชชนนี หรือ พอ.สว. ซึ่งมีขอบข่ายการติดต่อสื่อสารกว้างไกลเป็นที่ยอมรับกันทั่วไปว่า เป็นข่ายการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพข่ายหนึ่งของประเทศ

                นอกเหนือไปจากการสื่อสารทางวิทยุซึ่งผมในฐานะหัวหน้ากองการสื่อสาร กรมตำรวจ ได้ถวายเพื่อทรงใช้งานแล้ว ในขณะนั้น ผมยังดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานโทรคมนาคม กระทรวงมหาดไทย (ปัจจุบันเปลี่ยนเป็นกองการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย) อีกด้วย ผมจึงได้ทูลเกล้าฯ ถวายเครื่องโทรศัพท์ทางไกล และเทเล็กซ์ของกระทรวงมหาดไทย ให้ทรงใช้งานอีกส่วนหนึ่ง เมื่อกล่าวถึงโทรศัพท์ทางไกลของกระทรวงมหาดไทยแล้ว ขอทำความเข้าใจด้วยว่า เป็นบริการหนึ่งของโครงข่ายโทรคมนาคมของกระทรวงมหาดไทยที่ใช้ควบคู่กับบริการเทเล็กซ์ซึ่งจัดตั้งขึ้นมิใช่เพื่องานธุรกิจ แต่มีความมุ่งหมายให้ใช้ติดต่อราชการเท่านั้น โครงข่ายนี้มีศูนย์โทรคมนาคมกลางตั้งอยู่ที่ถนนวิสุทธิ์กษัตริย์ กรุงเทพฯ เชื่อมต่อกับศูนย์โทรคมนาคมเขต สถานีโทรคมนาคมระดับจังหวัดทุกจังหวัดทั่วราชอาณาจักร โดยเช่าใช้วงจรทางไกลของ ทศท. (ปัจจุบันนี้ ได้เลิกเช่าไปแล้วเป็นจำนวนมาก เนื่องจากไม่มีเงินจ่ายค่าเช่า และได้หันไปลงทุนสร้างโครงข่ายสื่อสารด้วยดาวเทียมใช้เป็นวงจรทางไกลแทน) ระบบโทรศัพท์ทางไกลและระบบเทเล็กซ์ของกระทรวงมหาดไทยในสมัยนั้นนับว่า รุดหน้าทันสมัยกว่าของ ทศท. หรือกรมไปรษณีย์โทรเลขมาก เพราะเป็นบริการโทรศัพท์ทางไกลอัตโนมัติ โดยการใช้ Area Code, City Code เป็นเลขนำ ปลัดกระทรวงมหาดไทยสามารถหมุนโทรศัพท์ทางไกลถึงตัวผู้ว่าราชการจังหวัดได้โดยตรง ไม่ต้องผ่านพนักงานชุมสายโทรศัพท์ (ทศท. เปิดบริการโทรศัพท์ทางไกลอัตโนมัติครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๓) ดังนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงทรงสามารถติดต่อรับสั่งกับผู้ที่เกี่ยวข้องทางโทรศัพท์และทางเทเล็กซ์ได้โดยสะดวก และเริ่มสนพระทัยที่จะศึกษาทดลองให้ลึกซึ้งมากยิ่งขึ้นเช่นเดียวกับการสื่อสารทางวิทยุ

                ประมาณเดือนเมษายน ๒๕๑๒ เมื่อเสด็จแปรพระราชฐานไปประทับแรม ณ พระราชวังไกลกังวล หัวหิน ทศท. ได้ติดตั้งตู้โทรศัพท์สาขาขึ้นในเขตพระราชฐานเพื่อการติดต่อราชการ แต่การติดต่อโทรศัพท์ทางไกลค่อนข้างยาก อาจเป็นเพราะมีผู้ใช้งานกันมาก วงจรทางไกลมีไม่เพียงพอ ผมจึงได้นำเอาตู้โทรศัพท์อัตโนมัติสาขา หรือ PABX ขนาด ๑+๕ เลขหมายมาติดตั้งเพิ่มเติมในข่ายส่วนพระองค์ มีเลขหมายหนึ่งโยงขึ้นไปที่ห้องทรงงานบนพระตำหนัก โดยใช้วงจรทางไกลที่กระทรวงมหาดไทยเช่าจาก ทศท. ปรากฏว่าใช้งานได้เป็นอย่างดีเป็นที่พอพระทัย ทรงมีพระราชปรารภที่จะให้มีการติดต่อทางโทรศัพท์ในลักษณะนี้ภายในพระตำหนักเป็นการส่วนพระองค์ด้วยเช่นกัน ผมจึงได้น้อมเกล้าฯ ถวายตู้โทรศัพท์ขนาดเดียวกันติดตั้งไว้บนพระตำหนักอีกตู้หนึ่ง

                ในระหว่างที่ประทับแรมที่หัวหิน ทุกๆ เย็นจะเสด็จออกไปพักผ่อนพระราชอิริยาบถ ทรงออกกำลังกาย (วิ่ง) ที่บริเวณหาดทรายใหญ่ เสด็จเยี่ยมราษฎร และเสด็จออกทรงตรวจติดตามงานพัฒนาท้องถิ่นตามแนวกระแสพระราชดำรินอกสถานที่เป็นประจำ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงทรงสนพระทัยที่จะเชื่อมโยงโทรศัพท์ที่มีอยู่กับข่ายวิทยุส่วนพระองค์ คือ ข่ายวิทยุโทรศัพท์อัตโนมัติ นั่นเอง ผมจึงได้พัฒนาระบบวิทยุโทรศัพท์ขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายตามแนวพระราชดำริในโอกาสต่อมา ดังนั้น เมื่อเสด็จออกนอกเขตพระราชฐานทุกครั้ง จึงทรงพอพระทัยที่จะมีการทดลองติดต่อกับผมและผู้เกี่ยวข้องทั้งทางวิทยุ และทางวิทยุพ่วงกับโทรศัพท์

                ในระหว่างที่ประทับอยู่ในกรุงเทพมหานคร เมื่อทรงว่างพระราชภารกิจ นอกเหนือจากการทดลองทางวิทยุแล้ว พระองค์ยังทรงโปรดที่จะทดลองค้นคว้าหาความรู้เพิ่มเติมในด้านเทคนิคของระบบโทรศัพท์อีกด้วย โดยได้ทรงเปิดตู้โทรศัพท์สาขาอัตโนมัติ PABX ที่ผมได้น้อมเกล้าฯ ถวายไว้เพื่อพิจารณาศึกษาการทำงานภายใน ตู้ชนิดนี้เป็นตู้ขนาดเล็กทำงานด้วยระบบ Electomechanical แบบ Cross Bar จึงไม่เป็นการยากลำบากสำหรับพระองค์ที่จะทรงเข้าพระทัย และทรงสามารถตรวจซ่อมด้วยพระองค์เองเมื่อมีการชำรุดเกิดขึ้นในระหว่างที่ทรงใช้งาน เช่นเดียวกับเครื่องมือสื่อสารประเภทอื่นๆ เมื่อได้ทรงศึกษาค้นคว้าแล้ว จะทรงมีแนวกระแสพระราชดำริที่แปลกๆ ใหม่ๆ ซึ่งยังไม่มีปรากฎในเทคโนโลยีโทรศัพท์ในยุคสมัยนั้น แล้วพระราชทานมาให้ผมรับไปพัฒนาต่อ เช่น ระหว่างที่กำลังรับสั่งกับข้าราชบริพารผู้หนึ่งทางโทรศัพท์เลขหมายหนึ่ง ในขณะเดียวกันยังได้รับสั่งอยู่กับผมทางอีกเลขหมายหนึ่ง ก็ได้ทรงมีพระราชดำริให้ผมทดลองพัฒนาเครื่องอุปกรณ์ที่สามารถเชื่อมต่อให้ผมสามารถพูดกับผู้ที่อยู่ปลายทางอีกเลขหมายหนึ่ง และให้ทรงสามารถรับฟังหรือร่วมสนทนาได้ด้วย ในลักษณะ Party Line การบ้านข้อนี้ทำเอาผมปวดหัวเหมือนกันเพราะเทคโนโลยีทางโทรศัพท์ในสมัยนั้นยังไม่อำนวย ประกอบกับผู้ร่วมสนทนาทางโทรศัพท์สามรายมิได้ใช้เลขหมายภายในตู้โทรศัพท์อัตโนมัติสาขาตู้เดียวกัน แต่ใช้โทรศัพท์เลขหมายภายนอกซึ่งต้องเชื่อมต่อระหว่างกันผ่านชุมสายและข่ายทางสายของทศท.ทั้งสิ้น จึงเป็นการยากแก่ผมซึ่งขณะนั้นยังไม่มีโอกาสเข้าไปมีบทบาทเกี่ยวข้องกับ ทศท.มากนัก อย่างไรก็ตาม ผมก็ได้พยายามพัฒนาตามความรู้ความสามารถ และเครื่องมือเครื่องใช้เท่าที่มีอยู่เพื่อสนองแนวกระแสพระราชดำริได้ในระดับหนึ่ง

                เพื่อให้การติดต่อทางโทรศัพท์ระหว่างพระองค์กับผมปลอดภัยจากการดักฟัง ผมจึงได้ทูลเกล้าฯ ถวายเครื่องป้องกันการดักฟัง (Privacy Phone) ไว้เพื่อทรงทดลองใช้งานเมื่อมีพระราชประสงค์ด้วย

                เมื่อพระราชภารกิจเพิ่มขึ้นมากตามลำดับ ความจำเป็นในการติดต่อสื่อสารกับบุคคลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงเพิ่มมากยิ่งขึ้น การติดต่อสื่อสารทางวิทยุ ถึงแม้ว่า จะช่วยผ่อนคลายระบายงานไปได้ส่วนหนึ่ง แต่ก็มีข่าวสารส่วนหนึ่งซึ่งไม่ทรงโปรดฯ ที่จะให้แผ่กระจายไปทางอากาศเพราะมีการดักรับฟังได้ง่าย เครื่องอุปกรณ์โทรศัพท์ที่ผมน้อมเกล้าฯ ถวายไว้จึงมีขีดความสามารถไม่เพียงพอ ทศท.จึงได้มีโอกาสถวายงานด้านโทรศัพท์เพื่อใช้งานส่วนพระองค์ตั้งแต่นั้นมา โดยการติดตั้งโทรศัพท์เลขหมายตรงในเขตนครหลวงไปยังพระตำหนักทุกครั้งที่มีการเสด็จแปรพระราชฐานไปประทับแรมในต่างจังหวัด การเพิ่มเลขหมายโทรศัพท์บนพระตำหนัก และในเขตพระราชฐานในพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน รวมทั้งการติดตั้งตู้โทรศัพท์สาขาให้มีขนาดใหญ่ มีขีดความสามารถสูงขึ้นในเขตพระราชฐานทุกแห่ง

                พนักงานทศท.ที่ได้มีโอกาสปฏิบัติหน้าที่สนองพระเดชพระคุณถวายงานด้านโทรศัพท์อยู่เป็นเวลานานที่สมควรกล่าวนามไว้ ณ ที่นี้ ได้แก่ คุณไพบูลย์ ลิมปพยอม อดีตผู้อำนวยการองค์การโทรศัพท์ฯ คุณสวาท ศรีขำ และคุณปลื้มใจ สินอากร ปัจจุบัน ทั้งสามท่านได้พ้นจากหน้าที่ไปแล้ว

                มีเกร็ดขำขันเกี่ยวกับการใช้โทรศัพท์อยู่เรื่องหนึ่ง คือ มีโทรศัพท์เลขหมายหนึ่งที่ ทศท. ถวายทรงใช้งานในห้องทรงงานส่วนพระองค์ เข้าใจว่า เป็นเครื่องโทรศัพท์ที่เลิกสัญญาเช่ากับร้านคนจีน จึงมักจะมีผู้โทรศัพท์ไปเข้าที่เลขหมายนี้อยู่บ่อยครั้ง พูดภาษาจีนบ้าง ภาษาไทยบ้าง พระองค์ได้รับสั่งเล่าให้ผมฟัง ผมจึงกราบบังคมทูลว่า เพื่อมิให้ผู้อื่นทราบว่าเลขหมายนี้ใช้งานส่วนพระองค์ เมื่อมีผู้โทรศัพท์หลงเข้ามาอีก ขอให้รับสั่งตอบเป็นภาษาจีนแต้จิ๋วไปว่า “ติ๊ก่อ (แปลว่า ที่ไหนนั่น)” ดังนั้นในโอกาสต่อมา เมื่อได้มีคนจีนโทรศัพท์เข้ามาที่เลขหมายนั้นอีก พระองค์จึงได้รับสั่งเป็นภาษาจีนตามที่ผมถวายคำแนะนำไว้ ปรากฏว่า ผู้ที่โทรศัพท์เข้ามาได้ยินพระสุรเสียงที่รับสั่งไป เกิดความเข้าใจว่าเป็นคนจีนด้วยกันเลยพูดภาษาจีนต่อออกไปอีกยาวเหยียด พระองค์จึงต้องรีบวางโทรศัพท์

                การเข้าไปติดตั้งโทรศัพท์ในเขตพระราชฐานโดยเฉพาะที่พระตำหนักจิตรลดารโหฐานเป็นเรื่องที่จะต้องกระทำด้วยความประณีตเรียบร้อย เนื่องจากในเขตพระราชฐานแห่งนี้มีสถานีวิทยุกระจายเสียงที่มีกำลังส่งสูงทั้งภาค เอ เอ็ม และ เอฟ เอ็ม คือ สถานีวิทยุ อส. การติดตั้งตู้และเครื่องโทรศัพท์อัตโนมัติสาขา รวมทั้งการวางสายไปยังจุดต่างๆ ในระยะแรกทำกันไม่ใคร่เรียบร้อย ค่อนข้างสะเพร่า ตรงจุดที่ควรจะบัดกรีก็ไม่บัดกรีใช้วิธีพันสายแทน ทำงานแบบสุกเอาเผากิน ดังนั้น สายโทรศัพท์เหล่านี้โดยเฉพาะคู่ที่เชื่อมโยงขึ้นบนพระตำหนักจึงถูกสถานีวิทยุกระจายเสียง อส. เข้ารบกวน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เสด็จลงมาทอดพระเนตรที่ตัวตู้ชุมสายซึ่งติดตั้งอยู่ที่ตึกธุรการที่ประทับ ติดกับสถานีวิทยุ อส. ด้วยพระองค์เอง จึงได้ทอดพระเนตรเห็นความไม่เรียบร้อยดังกล่าวและรับสั่งให้แก้ไขโดยการทำความสะอาดที่ปลายสาย บัดกรีวางสายใหม่ให้เรียบร้อย การรบกวนจากวิทยุกระจายเสียงจึงหมดลงไป

                อีกเรื่องหนึ่งที่ควรจะกล่าวถึงคือ คู่สายโทรศัพท์ที่ ทศท. ได้ถวายให้ใช้งานกับเครื่องเทเล็กซ์ของกระทรวงมหาดไทยบนพระตำหนักซึ่งหากต่อกลับขั้ว (สลับสาย) แล้ว เครื่องจะไม่ทำงาน ไฟที่หน้าเครื่องจะติดอยู่ตลอดเวลา ในการตรวจซ่อมคู่สายโทรศัพท์ในบริเวณสวนจิตรลดารโหฐาน ช่าง ทศท. จะต้องเปิดตู้พักสายทำการตรวจทดลองตามวิธีการของตนโดยปลดสายออกจากหมุดมาทดลองเป็นคู่ๆไป แต่เมื่อทดลองเสร็จต่อคืนเข้าที่เดิมด้วยความสะเพร่าหรือรู้เท่าไม่ถึงการณ์ก็ไม่ทราบ มิได้ต่อสายเข้ากับหมุดให้ตรงกับที่ต่อไว้เดิม กลับต่อสลับสายกัน เครื่องเทเล็กซ์ที่ทรงใช้งานส่วนพระองค์จึงไม่ยอมทำงานและทูลฟ้องด้วยหลอดไฟติดอยู่ตลอดเวลา เมื่อเจ้าหน้าที่ ทศท. ได้รับแจ้งเหตุขัดข้องก็รีบตรวจสอบหาสาเหตุ แต่ก็ไม่พบเพราะเมื่อตรวจสอบแล้วคู่สายนั้นมีคุณภาพดี ไม่ Low ไม่ขาด ผมจึงต้องอัญเชิญพระราชกระแสมาให้เจ้าหน้าที่ ทศท. ซึ่งกำลังตรวจซ่อมว่า ให้ทำการสลับคู่สายที่หมุดในตู้พัก เรื่องก็เรียบร้อย นับตั้งแต่นั้นมา ผู้บังคับบัญชาชั้นสูงของ ทศท.คือ คุณไพบูลย์ ลิมปพยอม จึงต้องกระโดดลงเข้าไปกำกับการแสดงการติดตั้ง การตรวจซ่อมโทรศัพท์ในเขตพระราชฐานด้วยตนเอง การถวายงานโทรศัพท์ของ ทศท. จึงเป็นไปโดยเรียบร้อยมาจนถึงบัดนี้

                ก่อนที่จะมีการเสด็จแปรพระราชฐานแต่ละครั้ง จึงถือว่าเป็นภารกิจสำคัญที่เจ้าหน้าที่ ทศท. ทั้งจากส่วนกลาง และในท้องถิ่นจะต้องร่วมกันเตรียมการตรวจสอบปรับปรุงติดตั้งเครื่องโทรศัพท์ เครื่องโทรสาร เครื่องเทเล็กซ์ภายในเขตพระราชฐาน และในห้องทรงงานบนพระตำหนัก ร่วมกับเจ้าหน้าที่สื่อสารตำรวจ และทำการทดลองจนถึงนาทีสุดท้าย เมื่อเสด็จถึงพระตำหนักที่ประทับ ก่อนที่จะเสด็จขึ้น จะเสด็จมารับสั่งกับเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการติดตั้งเครื่องมือสื่อสารโทรคมนาคมถวายเพื่อทรงใช้งานที่เฝ้ารับเสด็จ ณ พระตำหนักแห่งนั้น เพื่อสอบถามรายละเอียดการติดตั้งความเรียบร้อยในการใช้งานของเครื่องที่เฝ้ารับเสด็จอยู่เป็นเวลานาน ยังความปลาบปลื้มและซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณแก่เจ้าหน้าที่ผู้ที่เกี่ยวข้องเป็นอย่างยิ่งโดยทั่วถ้วนหน้ากัน

                เทคนิคการใช้วงจรทางไกลของ ทศท.ในการเพิ่มรัศมีทำการของระบบวิทยุตามแนวกระแสพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ได้กล่าวไว้ในตอนต้น ได้ถูกนำมาประยุกต์ใช้ในการแก้ไขปัญหาทางการเมืองซึ่งเป็นเหตุการณ์สำคัญในประวัติศาสตร์ไทยครั้งหนึ่งคือ เหตุการณ์“วันกบถเมษาฮาวาย” ที่สมควรนำมาสู่กันฟังต่อไปนี้

                เหตุการณ์“วันกบถเมษาฮาวาย”นี้ได้เกิดขึ้นเมื่อเวลาประมาณ ๐๒.๐๐ น.ของวันที่ ๑ เมษายน พ.ศ.๒๕๒๔ เมื่อคณะทหารบกกลุ่มหนึ่งนำโดย พลเอกสัณห์ จิตรปฏิมา รองผู้บัญชาการทหารบก ได้ทำการปฏิวัติยึดอำนาจการปกครองจากรัฐบาลในขณะนั้นซึ่งมีพลเอกเปรม ติณสูลานนท์เป็นนายกรัฐมนตรี คณะปฏิวัติได้ตั้งกองบัญชาการอยู่ที่หอประชุมกองทัพบกแล้วส่งกำลังทหารเข้ายึดควบคุมสถานที่สำคัญในกรุงเทพมหานครหลายแห่งรวมทั้งสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยกับได้ทะยอยออกประกาศแถลงการณ์และคำสั่งคณะปฏิวัติผ่านสถานีวิทยุกระจายเสียง และสถานีวิทยุโทรทัศน์ต่างๆ เป็นระยะโดยมีสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยเป็นแม่ข่าย คณะปฎิวัติได้อ้างเหตุผลสำคัญความจำเป็นที่ต้องทำการปฏิวัติในครั้งนี้ว่า เนื่องจากความล้มเหลวในการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาลขณะนั้น มีการเล่นพรรคเล่นพวกกอบโกยผลประโยชน์ส่วนตน มีการฉ้อราษฏร์บังหลวงคอบรัปชั่นในวงราชการทั่วไป เศรษฐกิจและสังคมของประเทศประสบความเสื่อมโทรมลงอย่างหนัก

                การปฏิวัติครั้งนี้นับเป็นครั้งที่ ๑๐ นับตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๗๕ เป็นต้นมา โดยที่คณะปฏิวัติได้ทำการยึดสถานีวิทยุกระจายเสียง และโทรทัศน์ที่ตั้งในเขตกรุงเทพมหานครไว้ทั้งหมด จึงอยู่ในฐานะที่ได้เปรียบเพราะประชาชนทั่วไปสามารถรับฟังข่าวจากคณะปฏิวัติได้เพียงฝ่ายเดียวเท่านั้นจึงทำให้หลงเชื่อว่า การปฏิวัติครั้งนี้ได้ประสบความสำเร็จลงแล้วอย่างแน่นอน

                ในวันที่เกิดเหตุ ผมยังดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมไปรษณีย์โทรเลขและได้ทราบข่าวนี้จากข้าราชการในสังกัดคนหนึ่งเมื่อตอนเช้ามืดขณะที่ผมกำลังเตรียมตัวออกไปทำบุญในโอกาสวันครบรอบวันเกิดเมื่อผมได้เปิดวิทยุรับฟังประกาศแถลงการณ์และคำสั่งของคณะปฏิวัติที่ได้ถูกถ่ายทอดผ่านสถานีวิทยุโทรทัศน์ และสถานีวิทยุกระจายเสียงทุกแห่งแล้วก็มีหลงเชื่อเข้าใจเช่นเดียวกับประชาชนคนอื่นๆเช่นกันบังเอิญในตอนเย็นวันนั้นเมื่อผมได้เข้าไปในพระตำหนักจิตรลดารโหฐานเพื่อเข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวขอพระราชทานพรวันเกิดดังที่ได้เคยถือปฏิบัติมาโดยตลอดจึงได้ทราบว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และพระบรมวงศานุวงศ์ได้เสด็จฯแปรพระราชฐานไปประทับยังกองบัญชาการกองทัพภาคที่ ๒ จังหวัดนครราชสีมาตามคำกราบบังคมทูลเชิญของพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรีแล้ว การตัดสินพระทัยในครั้งนี้ทำให้ผมเชื่อว่า การปฏิวัติในครั้งนี้ไม่สำเร็จราบรื่นตามที่ประชาชนทั่วไปเข้าใจเสียแล้ว จึงได้ตกลงใจยอมเสี่ยงต่อตำแหน่งหน้าที่เดินทางไปยังจังหวัดนครราชสิมาเพื่อถวายตนเป็นราชพลีในเช้ามืดของวันที่ ๒ เมษายนทันที

                ผมได้เดินทางไปถึงกองบัญชาการกองทัพภาคที่ ๒ จังหวัดนครราชสีมาซึ่งได้แปรสภาพเป็นกองอำนวยการร่วมรักษาความสงบแห่งชาติในตอนสายวันเดียวกัน ระหว่างเดินทางได้เปิดรับสถานีวิทยุกระจายเสียงของกองทัพภาคที่ ๒ ออกอากาศที่จังหวัดนครราชสีมาออกประกาศแถลงการณ์ของฝ่ายรัฐบาลตอบโต้คณะปฏิวัติเป็นระยะๆโดยมีนายพิศาล มูลศาสตร์สาทร เป็นผู้ประกาศ ซึ่งดูจะไม่ได้ผลอะไรมากนัก เพราะสถานีวิทยุแห่งนี้มีกำลังส่งไม่สูงเพียงพอที่จะรับฟังในกรุงเทพมหานครและจังหวัดใกล้เคียงได้ เมื่อได้รายงานตนต่อพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรีแล้ว ผมจึงได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่ช่วยเหลือในการประกาศข่าวแถลงการณ์ของฝ่ายรัฐบาลต่อจากนายพิศาลฯ

                ในเย็นวันที่ ๒ เมษายนนั้น ผมได้มีโอกาสกราบพระบาทขอพระราชทานพรวันเกิด หลังจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพรวันเกิดให้แก่ผมแล้ว ได้ทรงสอบถามเหตุผลในการตัดสินใจและวิธีการเดินทางของผม กับได้มีพระราชกระแสวิจารณ์การอ่านประกาศแถลงการณ์ของผมว่า “อ่านได้ชัดเจนดีแต่เร็วไปหน่อย”

                การวางแผนปฏิบัติการส่งกองกำลังเข้ากรุงเทพมหานครภายใต้การนำของพลตรี(ยศขณะนั้น) อาทิตย์ กำลังเอก รองแม่ทัพภาคที่ ๒ เพื่อการหลีกเลี่ยงมิให้มีการปะทะกับกองกำลังทหารของคณะ

                ปฏิวัติที่ตั้งมั่นอยู่ตามจุดต่างๆทั่วกรุงเทพมหานครและปริมณฑลเป็นไปด้วยความยากลำบาก เนื่องจากกองกำลังฝ่ายปฎิวัติไม่มีโอกาสทราบข้อเท็จจริงเพราะรับฟังข่าวได้จากสถานีวิทยุกระจายเสียงของคณะปฏิวัติได้เพียงฝ่ายเดียวเท่านั้น ในคืนวันนั้นเอง ขณะที่ผม พลตรีอาทิตย์ฯ และนายพิศาลฯ ในฐานะที่เป็นนักศึกษาวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักรร่วมรุ่นที่ ๒๒ ด้วยกัน ได้ร่วมสนทนาหารือหาวิธีการแก้ไขปัญหาการวางแผนปฏิบัติการดังกล่าว พลตรีอาทิตย์ฯ ได้ขอให้ผมหาทางปิดปากของคณะปฏิวัติที่ออกอากาศทางสถานีวิทยุกระจายเสียงต่างๆให้ได้เพื่อช่วยให้ประชาชน และกองกำลังทหารปฏิวัติทราบข้อเท็จจริง จะได้หูตาสว่างและไม่ทำการต่อสู้ขัดขวางเมื่อฝ่ายรัฐบาลได้เคลื่อนกองกำลังไปถึง คำขอของพลตรีอาทิตย์ฯ ดังกล่าวได้รับการตอบรับจากผมด้วยความยินดีและเต็มใจ เพราะได้พิจารณาแล้วเห็นว่า ไม่ใช่เรื่องเหลือบ่ากว่าแรงแต่อย่างใด ทั้งผมก็มีประสบการณ์ในเรื่อง Electronic Warfares อยู่แล้ว

                โดยความร่วมมือของพนักงานองค์การโทรศัพท์ฯ นครราชสีมา และข้าราชการในบังคับบัญชาของผมจำนวนหนึ่งที่เตรียมพร้อมรับคำสั่งของผมอยู่ในกรุงเทพมหานคร ผมใช้เวลาไม่นานก็สามารถถ่ายทอดเสียงจากสถานีวิทยุกระจายเสียงของกองทัพภาคที่ ๒ ซึ่งเป็นสถานีแม่ข่ายของฝ่ายรัฐบาลในขณะนั้นผ่านสถานีวิทยุกระจายเสียงทั้งระบบเอ็ฟเอ็มและเอเอ็มของกรมไปรษณีย์โทรเลข(สถานีวิทยุกระจายเสียง ๑ ปณ.) จำนวนหลายสถานีมาออกอากาศทางกรุงเทพมหานครได้อย่างชัดเจนแจ่มใสไม่แพ้สถานีวิทยุกระจายเสียงของฝ่ายปฏิวัติ การปฏิบัติสงครามทางจิตวิทยาผ่านสถานีวิทยุกระจายเสียงของทั้งสองฝ่ายจึงเกิดขึ้น และในที่สุด สถานีวิทยุกระจายเสียงที่ทำการถ่ายทอดเสียงข่าวของฝ่ายปฏิวัติอยู่แต่เดิมจึงเริ่มเข้าใจสถานการณ์ได้กระจ่างชัดขึ้นโดยลำดับและเริ่มทะยอยเปลี่ยนใจมาเข้ากับฝ่ายรัฐบาลทำการถ่ายทอดเสียงจากสถานีวิทยุกระจายเสียง ๑ ปณ.แทน ทั้งกองกำลังทหารฝ่ายปฏิวัติและประชาชนจึงเริ่มหูตาสว่าง ดังนั้น เมื่อกองกำลังทหารของฝ่ายรัฐบาลได้เคลื่อนย้ายกำลังจากจังหวัดนครราชสีมาทางอากาศมาถึงกรุงเทพมหานครในเช้าตรู่วันที่ ๔ เมษายน จึงสามารถเข้ายึดกรุงเทพมหานครคืนได้โดยไม่มีการปะทะถึงขั้นนองเลือดล้มตาย เป็นอันว่า การปฏิวัติของพลเอกสัณห์ จิตรปฏิมา กับคณะได้ประสบความล้มเหลวพ่ายแพ้โดยสิ้นเชิง

                กลไกสำคัญที่ทำให้เกิดความสำเร็จในการปฏิบัติการครั้งนี้ ได้แก่ เทคนิคการนำวงจรทางไกล หรือ สื่อนำสัญญาณ (Transmission Media) ของ ทศท.ที่เฃื่อมต่อกับจังหวัดนครราชสีมา กับกรุงเทพมหานคร มาใช้ประโยชน์ในการถ่ายทอดเสียงคำแถลงการณ์ และประกาศของคณะรัฐบาลจากสถานีวิทยุกระจายเสียงของกองทัพภาคที่ ๒ จังหวัดนครราชสีมา มาเผยแพร่ออกอากาศทางกรุงเทพมหานคร ประกอบกับคำแถลงการณ์ และประกาศต่างๆ ของคณะปฏิวัติ จากหอประชุมกองทัพบก ที่จะส่งต่อไปยังสถานีวิทยุกระจายเสียงต่างๆ ในเครือข่ายของตนก็ได้ถูกสะกัดกั้นโดยมาตรการสงครามทางอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Warfare Measure) ที่ผมได้วางไว้ การโฆษณาชวนเชื่อซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญของคณะปฏิวัติจึงประสบความล้มเหลว จึงฃ่วยให้ประชาชน และหน่วยกำลังทหารที่หลงผิดซึ่งได้รับคำสั่งจากคณะปฏิวัติให้ออกปฏิบัติการตามจุดต่างๆ ได้ทราบข้อเท็จจริง การรบราฆ่าฟันระหว่างคนไทยด้วยกันจึงไม่เกิดขึ้น

                เหตุผลที่ผมได้หยิบยกเรื่องนี้มากล่าว ก็เพื่อที่จะเปิดเผยให้ทราบโดยทั่วกันว่า หากผมไม่มีโอกาสได้รับพระราชทานพระมหากรุณาให้ร่วมทำการศึกษาค้นคว้างานด้านเทคนิคสื่อสารโทรคมนาคมซึ่งเกิดจากแนวกระแสพระราชดำริต่างๆ กับพระองค์ท่านมาโดยตลอดและต่อเนื่องมาเป็นเวลานาน ความศรัทธาความจงรักภักดีในพระองค์ ทำให้ผมเกิดความมั่นใจในตัวเอง มีจิตใจเป็นอิสระ ทำให้ปัญญาของผมได้รับการพัฒนามากขึ้นเพียงพอที่จะคิดการ และทำงานใหญ่ซึ่งเป็นงานของส่วนรวม และประเทศชาติ เพื่อถวายเป็นราชพลีได้โดยไม่หวั่นเกรงต่ออิทธิพลภยันตรายใดๆ ทั้งสิ้น

                ในวโรกาสอันสำคัญ วันมหามงคลสมัย เฉลิมพระชนมพรรษาครบ ๗๒ ปี ในวันที่ ๕ ธันวาคมนี้ ประชาชนคนไทยทั่วถ้วนหน้าทั้งภาครัฐ และภาคเอกชนได้ตั้งความปรารถนา มีแผนงาน มีโครงการที่จะถวายความจงรักภักดีต่อพระองค์เหลือคณานับ สำหรับผู้ที่อยู่ในวงการสื่อสารโทรคมนาคมนั้น ผมใคร่ขอเสนอแนะวิธีการถวายความจงรักภักดีด้วยวิธีการง่ายๆ โดยการอัญเชิญพระบรมราโชวาท เรื่อง “รู้ รัก สามัคคี” มายึดถือเป็นแนวปฏิบัติ

                พระบรมราโชวาทดังกล่าว ถึงแม้ว่า จะสั้นๆ แต่เมื่อนำออกมาขยายความแล้ว จะเพียบพร้อมด้วยสาระที่สำคัญยิ่ง ดังต่อไปนี้

                1. “รู้” คือ ปัญญา มีความรู้ความเข้าใจในงานที่จะต้องทำ

2. “รัก” คือ การมีความรัก ความพอใจในงานที่จะต้องทำนั้น

                3. “สามัคคี” คือ การร่วมกันทำงานด้วยความจริงใจ อย่างพร้อมเพรียง ไม่ทะเลาะเบาะแว้ง อิจฉาริษยากัน ไม่แบ่งพรรคแบ่งพวก ทำงานนั้นเพื่อผลประโยชน์ของส่วนรวมอย่างแท้จริง ไม่หวังผลประโยชน์ตอบแทนเพื่อเข้าพกเข้าห่อของตน หรือ ญาติมิตรพรรคพวกของตน

                หากท่านสามารถยึดถือปฏิบัติตามพระบรมราโชวาทดังกล่าวข้างต้นได้อย่างจริงจังทั้งกาย วาจา และใจ ความเป็นสิริมงคล ความเจริญรุ่งเรืองก้าวหน้าย่อมจะบังเกิดขึ้นแก่ตัวท่าน ครอบครัว และหน่วยงานที่ท่านสังกัดอยู่อย่างแน่นอน