วงดนตรีองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย ตอนที่ 3

หลังจากที่มีเครื่องดนตรีมีการฝึกซ้อมอยู่เสมอก็มีงานที่ไปแสดงตามส่วนงานต่างๆบ่อยครั้ง บ้างครั้งก็มีโอกาศได้ไปแสดงนอกส่วนงานบ้างตามที่มีผู้แนะนำมา  ต่อมาก็มีผู้ใหญ่ท่านหนึ่งคือท่านเสนาะ  ธีวรากร ได้แต่งแพลงให้กับองค์การโทรศัพท์ 2 เพลงให้วงดนตรีไปบรรเลงในงานต่างๆ ชื่อเพลง มาร์ชองค์การโทรศัพท์  และ เพลงโทรศัพท์รักกัน  โดยได้ศิลปินแห่งชาติครูสมาน  กาญจนผลิน เป็นผู้ให้ทำนองและเรียบเรียงเสียงประสาน ปัจจุบันก็ไม่ได้ยินแล้วคงคิดว่าไม่มีหน่วยงานชื่อองค์การโทรศัพท์แล้วก็เลยเลิกเปิด แต่ถ้าท่านเปิดเข้ามาใน เวปของชมรมผู้เกษียณอายุ ทศท ก็จะยังได้ยินได้ฟังอยู่นะครับ ผมได้ทราบว่าคุณวิจิตร  รุจิโมระ ได้พบแผ่นเสียงเพลงทั้ง 2 เพลงนี้ยังอยู่ในสภาพดี ผมว่าจะขอยืมมาแปลงจากแผ่นเสียงมาเป็น ซีดี แบบปัจจุบันเก็บไว้ที่ชมรม ไว้เปิดเวลามีงานประชุมใหญ่ปลายปี เพื่อเพื่อนสมาชิกส่วนหนึ่งที่เคยได้ทำงานและเกษียณในสมัยยังเป็นองค์การโทรศัพท์ได้นึกถึงอดีตบ้าง เพลงมาร์ชองค์การโทรศัพท์นั้นได้มีการเปลี่ยนเนื้อร้องในบางคำเพื่อให้เข้ากับปัจจุบัน เดิมนั้นเนื้อเพลงมีว่า   “ องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย   กิจการกว้างใหญ่แผ่ไพศาล   ประชาชนติดต่อบริการ   สื่อสารถึงกันทันใจ  ลัดนิ้วมือเดียวหมุนหนาปัทม์   เครื่องอัตโนมัติเชื่อมโยงให้   ธุรกิจแคล่วคล่องว่องไว   เหมือนเมืองไทยใกล้กันทันเหตุการณ์ “      แต่เมื่อมาถึงโทรศัพท์ยุคกดปุ่มเนื้อเพลงจึงต้องเปลี่ยนจาก  “ ลัดนิ้วมือเดียวหมุนหน้าปัทม์ “  มาเป็น  “ สัมผัสตัวเลขบนหน้าปัทม์ “ เพลงนี้คนร้องชายน่าจะเป็นคุณสันติ  ลุนเผ่  ส่วนอีกเพลงเป็นจังหวะรำวงชื่อเพลง  “ โทรศัพท์รักกัน “ เอาไว้แล้วผมจะหาเนื้อเพลงมาลงไว้ให้อ่านกัน แต่คงไม่ได้ร้องเพราะบางท่านคงไม่เคยได้ยิน    วงดนตรีแบบเต็มวงก็เริ่มค่อยๆหายไปจากวงการบันเทิงอาจเป็นเพราะค่าใช้จ่ายในการจ้างวงดนตรีเต็มวงค่อนข้างสูงงานเลี้ยงสังสรรค์ที่ต้องมีเวทีลีลาศก็น้อยลง ไนต์คลับ บาร์และภัตตาคารที่เคยมีวงดนตรีก็ค่อยๆปิดตัวลง ตามร้านอาหารก็หันมาใช้เครื่องดนตรีที่เรียกว่า อีเลคโทน ที่ใช้ผู้เล่นคนเดียวก็สามารถให้เสียงดนตรีได้เหมือนวงดนตรีเป็นการลดค่าใช้จ่าย  จนปัจจุบันน่าจะเหลือเพียงวงดนตรีสุนทราภรณ์และวงดนตรีที่เป็นของส่วนราชการเท่านั้นที่ยังคงเล่นอยู่   วงดนตรีองค์การโทรศัพท์ก็ยังคงมีงานแสดงอยู่ตามส่วนงานในองค์กรและงานของพนักงานอยู่บ้าง เครื่องดนตรีก็ชำรุดไปตามอายุการใช้งานงบประมาณในการซ่อมก็ไม่มี ผมเคยขอเงินสนับสนุนในการซ่อมเครื่องดนตรีจากชมรมกีฬา ทศท ก็ได้รับคำตอบว่าไม่มีงบให้เพราะวงดนตรีไม่ได้ทำชื่อเสียงให้กับองค์กรเหมือนกีฬา เลยต้องหาเงินซ่อมกันเองเท่าที่จะทำได้  จนปัจจุบันไม่ทราบว่ายังเหลืออะไรอยู่บ้าง  หลังจากที่ผมเลิกเล่นดนตรีมาตั้งแต่ปี พศ 2535  ก็มีเพื่อนนักดนตรีที่ยังพอมีเวลาดูแลและยังคงรับงานเล่นตามงานต่างๆต่อไป  เป็นอดีตที่อยากจะเล่าให้เพื่อนสมาชิกฟัง  สมาชิกในวงก็แยกย้ายกันไปทำงานตามหน้าที่ จนปัจจุบันก็เกษียณกันหมดแล้ว  ในงานประชุมใหญ่ปลายปีของชมรมเมื่อ 4-5 ปีที่ผ่านมาท่านอดีต อทท  ท่านจุมพล  เหราบัตร ท่านจำได้ว่าเคยมีวงดนตรีท่านแนะนำให้ผมลองเอามาเล่นในงานเลี้ยง  ผมเลยชวนเพื่อนอดีตนักดนตรีวง ทศท มาเล่นในงานก็ได้รับการต้อนรับจากเพื่อนสมาชิกที่มาในงานเป็นอย่างดี  แต่บางท่านก็ไม่ชอบเพราะไม่ได้ขึ้นมาร้องเพลงอยากร้องเพลงแบบคาราโอเกะมากกว่า   ดนตรีให้ความสุขกับทุกคนที่ได้ยินได้ฟังแต่ไม่มีใครรู้จักนักดนตรีว่าใครทำหน้าที่อะไร  ต้องใช้เครื่องดนตรีอะไรบรรเลงออกมาจึงได้เป็นเสียงดนตรีที่ไพเราะ   ใช้เวลาเท่าไรฝึกฝนให้สามารถเล่นออกมาได้พร้อมเพรียงกัน   ชีวิตนักดนตรีก็เหมือนปิดทองหลังพระไม่มีคนเห็นแต่ก็ทำให้องค์พระสมบูรณ์เต็มองค์