วงดนตรีองค์การโทรศัพท์ ตอนที่ 1

วงดนตรีองค์การโทรศัพท์  ตอนที่ 1

เรื่องของวงดนตรีองค์การโทรศัพท์นั้นมีความเป็นมาย่างไร คงต้องใช้เวลาในการเรียบเรียงพอสมควรเพื่อให้ได้ข้อมูลที่ถูกต้องที่สุด คงจะต้องเขียนไปหาข้อมูลไปและแก้ไขไปเรื่อยๆ กว่าจะจบน่าจะ 2 ตอน คนเป็นช่างมานั่งเขียนหนังสือไม่ง่าย    เรื่องต่างๆอยู่ในหัวแต่พอถึงเวลาเขียนมันเขียนไม่ออกอย่างที่คิด ถ้ามีข้อผิดพลาดอะไรก็ขออภัยไว้ ณ ที่นี้ด้วยนะครับ หลายคนคงจำได้ว่าในอดีตที่ผ่านมา ทีโอที เคยมีวงดนตรีสากลอยู่วงหนึ่ง ชื่อ   “วงดนตรีองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย” แต่น้อยคนที่รู้ถึงที่มาของวงดนตรี ว่าเป็นมาอย่างไร  ผมเป็นคนหนึ่งที่ได้ร่วมอยู่ในวงดนตรี ก็จะเล่าให้ฟังตามที่พอจำได้สำหรับคนที่ผ่านมา 69 ฤดูร้อน ย้อนไปเมื่อประมาณ 44  ปีที่ผ่านมา  วันที่ 21 มกราคม 2517  ผมเข้าอบรมวิชาโทรศัพท์ ระบบ Crossbar ARF 102  ที่ศูนย์ฝึกอบรมโทรคมนาคมองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย ถนนงามวงศ์วาน  ในตอนนั้นศูนย์ฝึกฯ มีวงดนตรีอยู่วงหนึ่งที่อาจารย์ในศูนย์ รวมตัวกันเล่นเวลาว่าง  มีกีต้าร์ 3 ตัวกับกลอง 1 ชุด ผมกับเพื่อนชื่อ ผจญศึก  จันทร์จำเนียร ที่เข้าอบรมด้วยกันเคยเล่นดนตรีมาด้วยกันจากโคราช ก็ไปดูอาจารย์ซ้อมอยู่บ่อยๆ ตามนิสัยของนักดนตรีที่ได้ยินเสียงเพลงแล้วอดไม่ได้ที่จะต้องตามไปดู  คนที่ไม่เคยรู้จักกันมาก่อน ดนตรีก็เป็นสื่อให้สนิทกันได้ ไม่นานนัก  มารู้จักชื่อคนที่ซ้อมดนตรีอยู่ก็ตอนที่เข้ามาสอน  มีอาจารย์ศุภชัย ฐิติประวัติ เล่นกีต้าร์เบส อาจารย์บุญชู  ตรีทอง เล่นกีต้าร์ (ภายหลังท่านลาออกไปเล่นการเมืองเป็นรัฐมนตรีทบวงศึกษาและรัฐมนตรีช่วยกระทรวงการคลัง) อาจารย์อติพงษ์  ผมจำนามสกุลท่านไม่ได้ เล่นกีต้าร์ และอาจารย์อีกท่านตีกลอง อาจารย์ชนินทร์(สมหวัง) ฟูประเสริฐ ร้องเพลงสุนทราภรณ์  และพนักงานในศูนย์เป็นนักร้อง  เมื่อเป็นศิษย์กับอาจารย์ไม่นานนักผมก็ได้เข้าไปร่วมวงด้วยในตำแหน่งคนเล่นคีย์บอร์ด ผมกับผจญศึกเคยเล่นดนตรีอยู่ สมัยโคราชยังมีทหารอเมริกันอยู่เต็มเมือง มีบาร์เล็กบาร์น้อยอยู่ทั่วไป พอให้ได้ใช้ความรู้ด้านดนตรีที่มีหารายได้บ้าง  ไม่ใช่นักดนตรีอาชีพ เป็นแค่นักดนตรีสมัครเล่น ผมมีคีย์บอร์ดส่วนตัวอยู่แล้วก็เลยยกมาร่วมด้วย ผจญศึก เคยเล่นกลองก็มาช่วยซ้อมด้วยกัน  ด้านหลังของศูนย์ฝึกฯ มีหน่วยงานที่สอนด้านเคเบิลอยู่  มีพี่เจือ  ปั้นทอง เป็นผู้รับผิดชอบอยู่ ตำแหน่ง ท่านเป็นอะไรผมก็จำไม่ได้ เราก็อาศัยห้องว่างเป็นที่ซ้อมดนตรี เวลาว่างตอนเย็นบ้าง พักกลางวันบ้าง ในศูนย์ฝึกจำได้ว่ามีสโมสรอยู่ก็มักมีงานเลี้ยงอยู่บ่อยๆ ก็เลี้ยงกันภายในก็จะมีดนตรีเล่นก็พวกอาจารย์ในศูนย์ละครับ จนวันหนึ่งพี่เจือ ก็มีความคิดว่าองค์การโทรศัพท์น่าจะมีวงดนตรีสักวงหนึ่งเวลามีงานกีฬาภายในหน่วยงานจะได้ไม่ต้องไปจ้างใครมาเล่น ช่วงนั้นมีกีฬาภายในเกือบตลอดปี พอปลายๆปี ก็จะมีการแข่งกันทุกหน่วยงานเรียกงาน “ Sport Day “ จัดเป็นงานใหญ่ มีชมรมกีฬาเกือบทุกประเภทใน ทศท.   พอคิดแล้วก็เริ่มประกาศรับสมัครนักดนตรี มีพนักงานที่เป็นนักดนตรีมาสมัครหลายท่าน ทุกคนก็เอาเครื่องดนตรีส่วนตัวมาอาศัยที่ศูนย์ฝึกเป็นที่ซ้อม ได้พี่วินัย จิตต์แจ่ม จากส่วนงานข่ายสายมาเล่น แซ๊กโซโฟน  ได้เอนก  วิจิตรกูล อดีตทหารฝานศึก อยู่ฝ่ายบัญชี เล่น ทรัมเป็ต และช่วยเขียนโน๊ตเพลง  ได้ นพพร ผมจำนามสกุลไม่ได้อยู่ข่ายสายอดีตทหารผ่านศึกและนักดนตรีวงสุนทราภรณ์มาเล่นกลองคู่กับ นพรัตน์  ณรงค์ศิริกุล  ศุภกิจ เศรษฐสุทธิ์ อยู่กองติดตั้งเครื่องชุมสายเล่นกีต้าร์  สุวิทย์ สิทธิสม เล่นเบสคู่กับอาจารย์ศุภชัย  ฐิติประวัติ เราซ้อมและได้เล่นตามงานต่างๆใน ทศท อยู่ระยะหนึ่ง พี่เจือก็คิดว่าเราก็มีฝีมือพอใช้ได้ น่าจะมีเครื่องดนตรีที่เป็นขององค์กรเอง แต่การจะขอซื้อเครื่องดนตรีทั้งวงโดยใช้งบของ ทศท. คงเป็นไปไม่ได้ ตอนนั้นทาง ทศท. มีบริษัทจากประเทศญี่ปุ่นเข้ามาร่วมงานอยู่ด้วยหลายบริษัท พี่เจือ กับพี่ดนัย จุลชาต ตอนนั้นเป็นหัวหน้ากองติดตั้งเครื่องชุมสาย ได้เจรจาขอความร่วมมือช่วยบริจาคเครื่องดนตรีให้กับ ทศท. จนในที่สุดก็ได้รับความร่วมมือจาก 20 บริษัทที่ทำงานกับ ทศท ซื้อเครื่องดนตรีให้ 1 ชุดพร้อมเครื่องร้องเป็นมูลค่า 200,000 บาท เป็นดนตรีเต็มวงมาตรฐาน  8 ชิ้น ประกอบด้วย คีย์บอร์ด 1 กีต้าร์ 2  ยี่ห้อ Roland  กลอง 1 ชุด ทรัมเป็ท 1 แซ็กโซโฟนเทนเนอร์  1  แซ็กโซโฟนอัลโต้  1  และ ทรัมโบน  1   ทั้งหมดยี่ห้อ ยามาฮ่า  เครื่องร้องก็ของยามาฮ่า จำได้ว่าปีนั้นมี  พลตรีสมบัติ  คามัษเสถียร เป็นผู้อำนวยการ เรื่องนี้ท่านที่อ่านแล้วมีข้อเท็จจริงอะไรที่ไม่ตรงกับทีทราบก็ช่วยแจ้งให้ทราบด้วยนะครับเวลาผ่านมานานมากแล้วเขียนเท่าที่พอจะนึกได้ ถ้าได้รายละเอียดมากกว่านี้ก็จะได้นำมาปรับปรุงแก้ไข