บันไดไม้ไผ่

บันไดไม้ไผ่

ผมเห็นครั้งแรก ก็มาฝึกงานที่ชุมสายโทรศัพท์บางรัก (ไปรษณีย์กลางบางรัก) ในปี 2514  พอปี 2515 ก็สอบเข้าทำงานองค์การโทรศัพท์ ช่างติดตั้งอุปกรณ์เครื่องชุมสายโทรศัพท์ (ก็งานเดียวกันกับที่ฝึกงานมา) องค์การโทรศัพท์ได้มีการพัฒนาเปลี่ยนแปลงมาตลอดในทุกด้าน ยกเว้นบันไดไม้ไผ่ ที่อยู่คู่เอกลักษณ์ของช่างโทรศัพท์ การยกบันได ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เพราะต้องมีการฝึกอบรมเฉพาะ ยกอย่างไรไม่ให้ถูกคน ไม่ให้ไปฟาดกับรถที่วิ่งสัญจรบนถนน บันไดที่ใช้มี 3 ขนาด ขนาด 11,13, และ 15 ขั้น ลูกบันไดจะมีเป็นคี่  ไม่เป็นคู่ (ถ้าเป็นคู่ของปลอม) ขั้นลูกบันไดเป็นไม้ไม้ขนาดใหญ่ผ่าซีก  ไม่ใช่ขั้นบันไดแบบไม้ไผ่กลม (ลื่นตกมาตายง่าย) มีช่างทำบันไดที่บรรดาหน่วยงานช่างตอนนอกต้องจัดสั่งทำโดยเฉพาะ เป็นอดีตพนักงานองค์การโทรศัพท์ สังกัดช่างตรวจแก้โทรศัพท์ เขตโทรศัพท์ที่ 3 (ธนบุรี)  ชื่อ นายวิง ไทรเกิดศรี (อยู่ราชสิทธิ์  โพธิ์สามต้น ธนบุรี)  เป็นไม้ไผ่ที่มีคุณภาพได้มาตรฐาน แข็งแรง  ทนทาน การทำแต่ละครั้งนายวิง จะเป็นผู้ทดลองใช้ก่อน เพื่อความปลอดภัยของผู้ใช้ ดังนั้น บันไดไม้ไผ่ที่นายวิงทำ จะเป็นที่ชื่นชอบของผู้ใช้ บันไดไม้ไผ่ที่สั่งทำมาใหม่ๆ ลำไผ่ยังเขียวสด ของใหม่ก็จริง แต่ไม่มีช่างคนไหนยกไปใช้งาน ต้องปล่อยให้ตากแดดสัก1เดือนให้ลำไผ่แห้งสนิท จึงจะยกออกไปทำงานได้ เหตุเพราะลำไผ่สดๆเขียวๆนั้น โคตรหนักเลย ครับ เมื่อ 20 กว่าปี ทางคลังพัสดุ สั่งบันไดทำจากไฟเบอร์(สีส้ม) แบบสไลด์ปรับเลื่อนให้สูงต่ำได้ ขอโทษครับ. ไม่มีช่างคนไหนนำไปใช้งาน…พวกช่างบอกว่า ใครสั่งซื้อมาก็ลองมายกไปใช้งานทำให้ดูเป็นตัวอย่างหน่อย จะดูหน้าคนสั่งซื้อว่าจะยกไหวหรือไม่ บันไดไม้ไผ่ จึงคงอยู่คู่กับโทรศัพท์อย่างอมตะนิรันดร์กาล…จงให้ความสำคัญกับคนแบกบันได ด้วยครับ เขาคือแนวหน้า ที่ต้องเผชิญและรับหน้าลูกค้าโดยตรง.. ฝากไว้ในใจเธอ.. 41 ปี แห่งความหลัง กับการทำงานองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย …………………………… โดย..  สอ. รอ.